วัดชลประทานรังสรรค์
ล่องแพตาก ล่องแพเขื่อนภูมิพล ล่องแพแม่น้ำปิง กับแพวีเจทัวร์
หลวงพ่อพระเจ้าทันใจ วัดชลประทานรังสรรค์ ตำบลบ้านนา อำเภอสามงา จังหวัดตาก
ประวัติหลวงพ่อพระเจ้าทันใจ
หลวงพ่อพระเจ้าทันใจ เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่คู่บ้านคู่เมือง ของชาวตำบลบ้านนา อำเภอสามงา จังหวัดตาก ตั้งแต่ยังไม่สร้างขื่อนภูมิพล เพราะเป็นพระพุทธรูปศักดิศิทธิ์ที่มีอายุถึง ๑,๔๖๕ ปี ีจึงเป็นที่เคารพสักการะกราบไหว้ มาตั้งแต่บรรพบุรุษสืบต่อกันมาถึงปัจจุบันนี้
หลวงพ่อพระเจ้าทันใจนี้แปลกว่าที่อื่นๆ เพราะมี ๓ องค์ด้วยกันหล่อด้วยทองลงหินปางมารวิชัย
๑. องค์ใหญ่หน้าตักว้าง ๑๙ นิ้ว สูง ๓๒ นิ้ว ประดิษฐานบนฐาน ๒ ชั้น ชั้นล่างต่อตีน ๓ ขาสูงประมาณ ๓ นิ้ว
๒. องค์กลางหน้าตักกว้าง ๑๖ นิ้ว สูง ๓๑ นิ้วประดิษฐ์บนฐาน ๒ ชั้น
๓. องค์เล็กหน้าตักกว้าง ๙ นิ้ว สูง ๒๐ นิ้ว ประดิษฐ์บนฐาน ๒ ชั้น ชั้นล่างต่อตีน ๓ ขา สูงประมาณ ๓ นิ้ว
หลวงพ่อพระเจ้าทันใจทั้ง ๓ องค์เป็นศิลปะเชียงแสนสิงห์สาม ซึ่งมีหลักฐานเชื่อถือได้เพราะบ้านทุ่งจ๊ะสมัยนั้นเป็นอาณาจักรหนึ่งทางตอนใต้ของเมืองสร้อย ซึ่ง “พญาอุตุม” เป็นเจ้าเมืองบ้านทุ่งจ๊ะ สมัยนั้นมีหมู่บ้านสองฝั่งแม่น้ำปิง และชาวบ้านทุ่งจ๊ะทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง ชุมชนหน้าแน่นกว่าฟากแม่น้ำทิศตะวันตก มีวัดต่างๆที่สร้างขึ้นในสมัยนั้นคือ วัดเล้ม ตั้งอยู่ทางทิศใต้ ห้วยไคร้ประมาณ ๑ กิโลเมตร ส่วนวัดพระธาตุลอยเป็นวัดที่สำคัญตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าบอกสืบๆ กันมาว่าเจดีย์ได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตูขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของหลวงพ่อพระเจ้าทันใจ เพราะวัดใดก็ตามถ้าพระเจดีย์ได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุแล้ววัดนั้นต้องมีผู้สร้างพระเจ้าทันใจคู่วัดไว้ ๑ องค์ เช่นวัดพระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ วัดพระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน เป็นต้น
นอกจากวัดพระธาตุลอยแล้ว ทางเหนือของวัดห้วยไคร้ มีวัดอีกวัดหนึ่งซึ่งชาวบ้านทางเหนือเรียกว่า “วัดวังบ่ตาล”(วัดวังตาล) เฉพาะวัดวังบ่ตาลนี้ ห่างจากลำห้วยไคร้ประมาณ ๖๐ เมตร มีซากปรักหักพังของพระวิหาร พระเจดีย์ และเป็นวัดที่มีพระสงฆ์อยู่อาศัยประจำเมื่อชาวเมืองสร้อยและชาวหมู่บ้านอื่นๆ ถูกต้อนไปอยู่ จังหวัดราชบุรีและจังหวัดชัยนาท เพราะเกิดสงครามระหว่างไทยกับพม่าเมื่อปี พุทธศักราช ๒๓๑๖ ก่อนจะถูกต้อนลงมาชาวบ้านจึงเก็บสมบัติมีค่าซ่อนไว้ตามที่ต่างๆ เมื่อสงครามสงบผู้ที่อยู่ทางราชบุรี ชัยนาทจึงนำ ลายแทงปริศนาขุมทรัพย์มาค้นหาสมบัติ เช่น “จิกอยู่เหนือ เกลืออยู่ใต้ คิดไม่ได้ เลือดจะออกปากและเมื่อเจ๊าอยู่คอกควาย เมื่อขวาย อยู่ข้างรั้ว” เป็นต้น เมื่อผู้คนถูกต้อนไปทำให้เมืองสร้อยและอาณาจักรกลายเป็นเมืองร้างตั้งแต่นั้นมาและชาวบ้านจำนวนหนึ่งหลบหนีเข้าป่า เมื่อบ้านเมืองสงบแล้วจึงออกมาทำมาหากินตามเดิม ที่ไปอยู่ราชบุรีบางส่วนก็กลับมาร่วมสร้างบ้านเมือง วัดก็กลับมาเจริญอีกครั้งส่วนหลวงพ่อพระเจ้าทันใจมิได้นำไปด้วย แต่ได้นำไปไว้ที่ซุ้ม(โขง) วัดวังตาลดังกล่าวแล้วโดยชาวบ้านทุ่งจ๊ะเป็นผู้ช่วยกันดูแลรักษา เมื่อมีงานขึ้นพระธาตุคือวันเพ็ญ เดือน ๘ เหนือ(เดือน ๖ ใต้) เป็นวันวิสาขบูชาชาวบ้านก็อาราธนาหลวงพ่อพระเจ้าทันใจทั้ง ๓ องค์ ไปร่วมพิธีขึ้นพระธาตุด้วยทุกครั้ง เมื่อเสร็จงานก็นำกลับไปประดิษฐานไว้ที่ซุ้มตามเดิม เฉพาะทางฝั่งตะวันออกขณะนั้นไม่มีบ้านเรือนราษฏรอาศัยอยู่เลย ประมาณปี พุทธศักราช ๒๔๖๙ ขุนจรูญเป็นหัวหน้าตำรวจไปตรวจท้องที่ตำบลบ้านนา จนสบตื๋นก็กลับ พอมาถึงเกาะหน้าวัดพระธาตุลอย ได้ออกคำสั่งให้ตำรวจไปด้วยกัน หามหลวงพ่อพระเจ้าทันใจกลับไปที่ระแหง จังหวัดตาก ฝ่ายชาวบ้านทุ่งจ๊ะผู้ดูแลหลวงพ่อพระเจ้าทันใจ เมื่อรู้ว่าหายไปแล้วจึงไปแจ้งให้ตุ๊เจ้าต๋า(หลวงตา) เจ้าอาวาสวัดท่าเดื่อทราบ ตุ๊เจ้าต๋าเป็นพระที่มีคนรู้จักมาก จึงทำหนังสือร่อนไปบอกข่าวว่าหลวงพ่อพระเจ้าทันใจหาย ขอให้สืบดูว่าใครจะนำไปขาย เมื่อขุนจรูญนำพระเจ้าทันใจไปถึงระแหงก็ไป เที่ยวขายปรากฏว่าไม่มีใครรับไว้ เพราะกลัวว่าจะเป็นผู้รับซื้อของโจร เมื่อไม่มีผู้ใดซื้อขุนจรูญกลัวเรื่องจะอื้อฉาวและมีความผิด จึงนำหลวงพ่อพระเจ้าทันใจย้อนขึ้นมาตำบลบ้านนาเพื่อจะส่งคืน โดยติดต่อตุ๊เจ้าต๋า เจ้าอาวาสวัดท่าเดื่อซึ่งขุนจรูญกับพวกจอดเรือพักแรม ณ ท้ายเกาะขี้เหล็ก(เกาะดอกเหล็ก) ปรากฏว่าพอกลางคืนประมาณ ๑ ทุ่มเศษอยู่ดีๆ ขุนจรูญก็มีอาการชักดิ้นชักงอจนถึงแก่ความตาย ปรากฏว่ามีรอยเขียวช้ำที่คอ เมื่อหัวหน้าผู้ลักหลวงพ่อพระเจ้าไปทันใจ จึงเป็นที่โจษจันของชาวบ้านว่าถูกสิ่งกดิ์สิทธิ์หักคอบ้าง ถูกเทวดาผู้รักษาหลวงพ่อพระเจ้าทันใจลงโทษบ้าง และถูกพระเสื้อวัดหักคอตายบ้างเป็นที่เล่าลือกล่าวขานกัน เมื่อขุนจรูญตายแล้ว ตุ๊เจ้าต๋าจึงนิมนต์หลวงพ่อพระเจ้าทันใจไปไว้ที่ซุ้ม(โขง) วัดวังบ่ตาลตามเดิมต่อมาภายหลังคิดว่าถ้าเอาหลวงพ่อพระเจ้าทันใจไปไว้ที่ซุ้มเดิมคงไม่ปลอดภัยแน่จะต้องมีผู้ลักเอาไปอีก จึงได้อาราธนาหลวงพ่อพระเจ้าทันใจทั้ง ๓ พระองค์ไปประดิษฐานที่วัดท่าเดื่อโดยทำพิธีบอกกล่าวถึงเทพาอารักษ์ว่าการเอาไป ไว้ที่นี้ไม่ปลอดภัยให้ทราบแล้วจึงอาราธนาหลวงพ่อพระเจ้าทันใจลงเรือแล้วแก้เชือกผูกเรือจะล่องเรือไปยังวัดท่าเดื่อ ปรากฏว่าเรือไม่ยอมขยับเขยื้อน เป็นที่อัศจรรย์ใจยิ่งนักเมื่อสำรวจหลวงพ่อพระเจ้าทันใจในเรือก็ได้รู้ว่านำมาเพียง ๒ องค์ ยังขาดองค์เล็กอีกองค์หนึ่งจึงพากันจัดข้าวขันตอกดอกไม้ธูปเทียนไปขอขมาลาโทษ และขออาราธนาไปอยู่ที่วัดท่าเดื่อด้วยกัน เมื่อนำมาลงเรือ เรือก็เคลื่อนออกจากท่าอย่างง่ายดายตั้งแต่นั้นมาหลวงพ่อพระเจ้าทันใจจึงอยู่ในความดูแลของตุ๊เจ้าต๋าและพระในวัดท่า เดื่อสืบ ต่อไปหลวงพ่อพระเจ้าทันใจนี้หากปีใดเกิดความแห้งแหล้งฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ชาวบ้านทุกหมู่บ้านจะพร้อมใจกันอาราธนาหลวงพ่อออกแห่โดยจัดขบวนธงนำหน้าขบวนหลวงพ่อพระเจ้าทันใจ ออกแห่ตามหมู่บ้านชาวบ้านต่างนำดอกไม้ธูปเทียน บูชา หลวงพ่อพระเจ้าทันใจแล้วนำข้าวตอกดอกไม้โปรยใส่ขบวนแห่ สรงน้ำหลวงพ่อทันใจและเล่นสาดน้ำกับผู้คนในขบวนแห่ ปรากฏว่าฝนจะตกลงมาทำให้ขบวนแห่และผู้ร่วมงานเปียกไปตามๆ กันและเมื่อฝนตกลงมาแล้วชาวบ้านจึงได้ทำนาตามฤดูกาลต่อไป
หลวงพ่อพระเจ้าทันใจ ประดิษฐานที่วัดท่าเดื่อนานประมาณ ๕๐ กว่าปี จึงอาราธนาไปประดิษฐานอยู่ที่วัดท่าโป่งอีกประมาณ ๗ ปี เมื่อรัฐบาลสร้างเขื่อนภูมิพลพระสงฆ์และชาวบ้าน ก็อพยพลงมาอยู่ที่จัดสรรซึ่งทางรัฐบาลจัดสรรที่ดินและสร้างวัดชลประทานรังสรรค์ให้ และได้นำหลวงพ่อพระเจ้าทันใจมาประดิษฐานที่วัดชลประทานรังสรรค์ตั้งแต่ปี พุทธศักราช ๒๕๐๓ จนถึงปัจจุบัน